วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สกัดอารมณ์บูดด้วย 7 วิธีฟีลกู้ดแบบง่าย ๆ

สกัดอารมณ์บูดด้วย 7 วิธีฟีลกู้ดแบบง่าย ๆ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ไม่มีใครจะสดใสยิ้มแย้มได้ตลอดเวลา ถ้าเกิดใครเดินยิ้มได้ทั้งวันแบบนั้นอาจถูกหาว่าเป็นคนบ้าเอาเสียง่าย ๆ แน่นอนว่าในวันหนึ่ง ๆ นั้นคนเราย่อมมีเรื่องที่ทำให้เครียด อารมณ์เสีย และหงุดหงิดงุ่นง่านใจอยู่ไม่น้อย แต่โชคดีที่เรามีวิธีคลายเครียดให้จิตใจเบิกบานขึ้นได้ง่าย ๆ แต่จะทำอย่างไรได้บ้างนั้นไปดูกันดีกว่า

1. ฟังเพลง

           ท่วงทำนองของเพลงจะช่วยให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย ลดการหลั่งของฮอร์โมนคอติซอล (cortisol) ซึ่งมีผลโดยตรงกับความเครียด แถมยังช่วยให้คุณมีความจำที่ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าคุณจะชอบเพลงของโมสาร์ท หรือเพลงของเลดี้ กาก้า เพียงแค่คุณรู้สึกผ่อนคลายสบายใจเมื่อได้ฟังก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนคุณแม่ที่กำลังอุ้มท้องน้องน้อยอยู่นั้น บทเพลงบรรเลงขับกล่อมหรือเสียงดนตรีจากธรรมชาติ อย่างเสียงสายฝนพรำหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และดีต่อพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยในท้องด้วย

2. สถานที่ปลอดโปร่งเย็นสบาย

           ห้องโปร่ง ๆ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายตัว นั่งเอนหลังสบาย ๆ ในอาร์มแชร์นุ่ม ๆ จิบชาคาโมมายล์หรือชาเขียวอุ่น ๆ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่คุณชื่นชอบ เท่านี้กำจัดความเครียดไปได้เยอะทีเดียว

3. เติมท้องด้วยแซนด์วิชพีนัทบัตเตอร์

           หากกำลังมองหาของว่างมาเติมกระเพาะให้คลายหิวและช่วยลดความเครียดด้วย ลองของว่างง่าย ๆ อย่างแซนด์วิชพีนัทบัตเตอร์ เพราะโปรตีนในพีนัทบัตเตอร์หรือเนยถั่วจะช่วยระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิ น (serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องความหิว อารมณ์ และความโกรธ อย่าลืมเลือกเนยถั่วแบบที่ไม่ผสมแยมผลไม้ซึ่งเต็มไปด้วยความหวานจากน้ำตาล และเลือกทานคู่กับขนมปังโฮลวีท ที่นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังทำให้อิ่มท้องนานด้วยค่ะ

4. ใช้เวลากับเพื่อนรู้ใจ

           มีผลการสำรวจจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐฯ พบว่าคนที่มีความสุขนั้นล้วนเป็นผู้คนที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับคนในครอบ ครัวและเพื่อนฝูงเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่คนเรานั้นมักมองข้ามการให้ความสำคัญในการพบปะเพื่อนฝูงอย่างสม่ำ เสมอ ด้วยข้ออ้างว่างานยุ่งหรือไม่มีเวลาว่าง ทั้งที่การได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนที่รู้ใจเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดที่ ดีทางหนึ่ง ฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการพบปะเพื่อนฝูงที่สนิทสนมอย่างน้อยอาทิตย์ละ ครั้ง อาจจะโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปทักทายกันบ้างก็ได้ค่ะ

5. ใส่ใจธรรมชาติรอบตัว

           การได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความยุ่งเหยิงต่าง ๆ ในชีวิตได้ ในวันที่อากาศแจ่มใสลองนั่งทานอาหารเช้าที่ระเบียงห้องหรือชานบ้าน ชมสวนสวย ๆ ฟังเสียงนกร้อง หรือเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ที่กำลังจะผลิใบจากตุ่มเล็ก ๆ เป็นใบไม้สีเขียว ๆ เท่านี้ก็ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจได้แล้วล่ะ

6. จดบันทึกสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

           การจดบันทึกสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จะทำให้คุณเป็นคนช่างสังเกต ลองสังเกตถึงความสุขหรือเรื่องที่ทำให้รู้สึกดี แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะโดยปกติแล้วคนเรามักจดจำเรื่องเลวร้ายได้ชัดเจนกว่าเรื่องที่ดีเสมอ นั่นเป็นเพราะเหตุการณ์เลวร้ายมักมีผลกระทบต่อจิตใจได้ง่ายกว่า ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้สังเกตความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน ทั้งเรื่องน่ารัก ๆ ที่สร้างรอยยิ้มที่มุมปากของคุณได้ บันทึกสิ่งดี ๆ เหล่านี้ลงไปในสมุดก่อนคุณจะเข้านอนทุกวัน คุณจะรู้สึกดีทั้งยามที่สังเกตเห็นความสุขเล็ก ๆ นั้น รู้สึกดีอีกครั้งเมื่อยามจดบันทึกลงสมุด และรู้สึกดีมากขึ้นไปอีกเมื่อได้กลับมาอ่านค่ะ

7. หลีกหนีความจำเจในชีวิตประจำวัน

           หลาย ๆ คนรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขและสนุกสนานเมื่อได้ทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจาก ตารางชีวิตแบบเดิม ๆ เช่น การออกไปเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศยามพักเที่ยง แทนที่จะนั่งกินข้าวอยู่ที่โต๊ะทำงาน, ได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่างปั่นจักรยาน ปีนเขา หรือเปลี่ยนจากการนั่งหน้าจอทีวีในทุก ๆ ค่ำ เป็นการอ่านหนังสือ เขียนไดอะรี่ หรือฝึกวาดรูปสีน้ำ เพียงเติมกิจกรรมเล็ก ๆ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบตารางชีวิตของคุณให้ต่างออกไปจากเดิม คุณก็จะได้รู้ว่าความสุขง่าย ๆ เกิดได้แค่เอื้อมเท่านั้น

           สุดท้ายนี้หากอยากจะเปลี่ยนอารมณ์บูดและความเครียด ให้กลายเป็นอารมณ์ดีฟีลกู้ดแบบสุด ๆ ก็ต้องเริ่มจากตัวของคุณเอง ถึงความสุขจะไม่วิ่งเข้ามาหา แต่เราก็เป็นฝ่ายออกไปหามันได้นี่คะ จริงไหม ? ขอให้ทุกคนมีความสุขสดใสในทุก ๆ วันนะคะ

Lifestyle Disease : โรคร้ายจากการใช้ชีวิต



lifestyle disease


Lifestyle Disease : โรคร้ายจากการใช้ชีวิต (รักลูก)
โดย: มรกต เอื้อวงศ์


          คุณและสมาชิกในบ้านใช้ชีวิตแบบนี้หรือเปล่าคะ?


          … สูบบุหรี่
          ... ดื่มเหล้า
          ... กินตามใจปาก
          ... ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง นอนดึก พักผ่อนน้อย
          ... ไม่ออกกำลังกาย


          ถ้าใช่...แม้ไม่ทั้งหมด คุณกำลังเผชิญความเสี่ยง และอาจกำลังส่งมอบเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายให้ลูกน้อย จาก Lifestyle disease หรือ Non-communicable disease (NCDs) แล้วค่ะ


แล้ว Lifestyle disease คืออะไรล่ะ


          Lifestyle disease หรือ Non-communicable disease (NCDs) คือ โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดของผู้คนทั่วโลก โดยในปี 2008 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุ NCDs ถึง 68 เปอร์เซ็นต์


          นอกจากนั้น ยังทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 60 ปีมากกว่า 9 ล้านคน ปี 2008 จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกทั้งหมด 57 ล้านคน เสียชีวิตจาก NCDs ถึง 36 ล้านคนหรือเกือบ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 48 เปอร์เซ็นต์ มะเร็ง 21 เปอร์เซ็นต์ โรคปอดเรื้อรัง 12 เปอร์เซ็นต์ และเบาหวาน 3 เปอร์เซ็นต์ค่ะ


          ในประเทศรัสเซีย NCDs คือสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชายเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในผู้หญิง ขณะที่ประเทศอินเดียพบผู้เสียชีวิต 8 ใน 10 คน เกิดจาก NCDs ซึ่งองค์การอนามัยโลกคาดว่าโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่คร่าชีวิตชาวอินเดียในปี 2020 ตามมาด้วยโรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองอุดตัน และมะเร็ง


          ส่วนในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขประมาณการณ์ว่าในปี 2554 คนไทยเจ็บป่วยประมาณ 12.5 ล้านคน เสียชีวิต 78,000 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเหล่านี้มากจากโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ หลอดเลือดและเบาหวานค่ะ (ข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด 3 มิ.ย. 54)


ความเครียด


สถานการณ์โรคร้ายจาก Lifestyle disease


          มะเร็ง เป็นโรคที่ครองแชมป์คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 10 ปีซ้อน โดยพบว่ามีแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง กว่า 56,058 ราย ซึ่งมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดลม มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักค่ะ (ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 29 มิ.ย. 54)


          โรคหัวใจและหลอดเลือด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากสถิติทั่วโลกพบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจาก พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ในปี 2545 พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 32,896 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน


          โรคปอดเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด พบได้บ่อยและเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง จึงทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา อีกทั้งยังเป็นโรคที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบต่อเนื่องติดต่อกัน 10-20 ปี จะทำให้เป็นโรคนี้ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ค่ะ


          เบาหวาน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวาน 220 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าหากไม่มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 54 หรือ 439 ล้านคน (ข้อมูลจาก www.manager.co.th)


สูบบุหรี่


Lifestyle ก่อโรค


          การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เปรียบเหมือนทางด่วนที่ก่อให้เกิดโรคร้ายได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วค่ะ เพราะ Lifestyle หลาย ๆ อย่างที่หลายคนคุ้นเคยก็ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น เช่น


          สูบบุหรี่ ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ปีละประมาณ 5 ล้านคน และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ เพิ่มเป็นปีละประมาณ 8 ล้านคน


          ส่วนในประเทศไทย ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 พบคนไทยสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน เป็นชาย 10.3 ล้านคน หญิง 5.4 แสนคน โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 42,000 ราย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรคมะเร็งไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 คน (ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ)


          ดื่มเหล้า ผลสำรวจของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เมื่อปี 2553 พบว่าเยาวชนไทยและผู้หญิงไทยดื่มเหล้ามากขึ้นเป็นเท่าตัว และพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการดื่มเหล้าและอยู่ในภาวะติดเหล้ามากถึง 5.3 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้หญิง


          ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย 3 อย่างนี้มักจะมาด้วยกันค่ะ ด้วยเหตุผลที่ว่าทำงานหลายชั่วโมงจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่แล้ว จะเอาเวลา เอาเรี่ยวแรงจากไหนไปออกกำลังกาย จนเกิดปัญหาสุขภาพ


ปรับ Lifestyle ปลอดภัยจากโรค


          แม้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราเคยปฏิบัติกันมาจนเคยชิน จะสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้มากมาย แต่วิธีป้องกันและแก้ไขก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเท่านั้นค่ะ ซึ่งการปรับ Lifestyle เพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสมาชิกในครอบครัวอีกด้วยค่ะ อาทิ


          สามารถดูแลคนที่รักอย่างสามี ภรรยา ลูก รวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ของครอบครัวได้อย่างเต็มที่


          เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากโรค


          มีเวลาที่จะทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน เช่น การออกกำลังกาย แทนที่จะไปนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล


          ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะหากสุขภาพแข็งแรงก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว ซึ่งบางโรคต้องใช้เวลานานในการรักษา ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง




สุขภาพดี


เคล็ดลับเพื่อการมีสุขภาพดี


          1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาดถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงอาหารที่จะเป็นโทษต่อร่างกาย ก็จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีแล้วล่ะค่ะ


          2.อารมณ์ดี สุขภาพดี เป็นสิ่งที่สามารถบอกสภาวะของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไปค่ะ หากสุขภาพกายดีสุขภาพจิตใจก็จะดีไปด้วย ในทางกลับกันหากสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรื่องของอารมณ์และจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแลให้แข็งแรงไม่แพ้ร่างกายค่ะ


          3.ออกกำลังกาย สร้างสมอง เป็นวิธีดูแลสุขภาพง่าย ๆ ที่ทำได้แทบทุกที่ แถมยังประหยัด และช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันให้สมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ เช่น การเล่นกีฬาร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น


          การเริ่มต้นใหม่ไม่มีคำว่าสายค่ะ หากคุณมี Lifestyle ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า หากดีอยู่แล้วก็ปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพียงเท่านี้คุณและคนที่คุณรักก็จะห่างไกลโรคร้ายจาก Lifestyle disease แล้วค่ะ

5 อาหารประจำวัน บั่นทอนสุขภาพเกินคาด


อาหาร


5 อาหารประจำวัน บั่นทอนสุขภาพเกินคาด (Lisa)

          คุณอาจไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณกินแต่ของดีมีประโยชน์ บางทีสิ่งที่เรากินเข้าไปอาจเป็นยาพิษบ่อนทำลายทางอ้อมก็ได้ เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง...

มาร์การีน

1.มาร์การีน

          มาร์การีนส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยไขมันแปรรูปที่จะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอล "เลว" (LDL) ในขณะที่ลดปริมาณคอเลสเตอรอล "ดี" (HDL) ทำให้หลอดเลือดอุดตัน และด้วยปริมาณแคลอรีสูงถึง 100 แคลอรีต่อช้อนชา จึงอาจทำให้ไขมันรอบเอวสะสมมากขึ้น จึงมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อเป็นทางเลือก คุณอาจจะเลือกใช้เนยแบบแคลอรีต่ำหรือแบบลดไขมัน

น้ำอัดลม

2.น้ำอัดลม

          แคลอรีทั้งหมดในน้ำอัดลมมาจากน้ำตาล หรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรักโทสสูง และแคลอรีเหล่านี้ นี่เองที่รับผิดชอบการแพร่ระบาดของ "โรคอ้วน" ในปัจจุบันการดื่มน้ำอัดลมยังสร้างความเสียหายให้ฟัน และทำให้เกิดการก่อตัวของหินปูน นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาว่าอาจจะทำให้กระดูกอ่อนแอลงเสียด้วยซ้ำ

นม

3.นม

          นมธรรมดาเต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันที่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลเลว กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และอาจจะเป็นปัจจัยทำให้เส้นเลือดอุดตัน หนำซ้ำมักจะมีแคลอรีมากกว่า นมไขมันต่ำด้วย ทางเลือกที่ดีคือ นมขาดมันเนย หรือนมไขมันต่ำ ซึ่งลดสารอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายลง แต่ก็ยังครบถ้วนไปด้วยโปรตีน แคลเซียม วิตามินดี และโพแทสเซียม

ขนมปัง

4.ขนมปังขาว

          ขนมปังขาวนั้นทำมาจากแป้งสาลี ซึ่งใยอาหารและแร่ธาตุจะถูกขัดออกจนหมด ในขณะที่ขนมปังโฮลวีต 100% นั้นดีต่อสุขภาพมากการกินธัญพืชอย่างน้อย 3 หน่วยบริโภคต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิต ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและเบาหวานประเภทสองได้ด้วย

hotdog

5.ฮอตดอก

          เกือบร้อยละ 80 ของแคลอรีทั้งหมดในฮอตดอกทั่วไปมาจากไขมันอิ่มตัว การกินเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำอาจทำให้มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและมะเร็งลำไส้ ดังนั้น คุณอาจกินเนื้อไก่ไม่ติดมันหรือไส้กรอกไก่แทน จะได้รับไขมันน้อยกว่าแต่มีโปรตีนมากกว่าเยอะ
5 พฤติกรรมป้องกันไข้หวัดใหญ่




ไข้หวัด2009

วิธีป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด 2009 โดยกรมควบคุมโรค

3 บทเรียนที่ควรรู้ จากไดเอ็ตยอดนิยม

ลดน้ำหนัก

3 บทเรียนที่ควรรู้ จากไดเอ็ตยอดนิยม (Lisa)
          มันเป็นเรื่องที่ไม่มีวิธีไดเอ็ตยอดนิยมแบบไหนเลย ที่ทำได้ตามคำกล่าวอ้าง และก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยที่จะยึดติดกับมันระยะยาว แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีบทเรียนบางอย่างที่คุณสามารถเอามาปรับใช้ได้

1.กินคาร์โบไฮเดรตชนิดดี

          แผนไดเอ็ต อย่างเช่น Sugar Busters แนะนำให้เปลี่ยนจากคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีไกลซีมิก (Glycemic Ingex หรือ GI) สูง อย่างเช่น มันฝรั่ง หรือขนมปังขาวมาเป็นแบบที่มีดัชนีไกลซีมิกต่ำ เช่น ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต

          คำกล่าวที่ว่า อาหารที่มีดัชนีไกลซีมิกสูง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การสะสมไขมัน อาจยังเป็นที่โต้แย้งอยู่ แต่อาหารที่มีกระบวนการปรุงแต่งน้อยกว่า ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า

2.เพิ่มปริมาณโปรตีน

          ไดเอ็ตที่เน้นการกินโปรตีนมาก ๆ อย่างเช่น Atkins บอกว่า การตัดลดคาร์โบไฮเดรต บังคับให้ร่างกายต้องเผาผลาญไขมันที่สะสมเอาไว้ แต่ปัญหาก็คือ การกินแบบโปรตีนสูงมักอนุญาตให้กินเบคอน เนย และอะไรต่ออะไรที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าคุณพยายามลดน้ำหนัก การกินโปรตีนอาจช่วยได้ เพราะมันใช้เวลาในการย่อยนานกว่า ทำให้ไม่รู้สึกหิวโหย แค่เลือกแบบที่ไขมันต่ำ และอย่ากินมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแคลอรีที่ควรได้รับในแต่ละวัน


3.เติมซุปให้เต็มอิ่ม

          แน่นอน คุณสามารถลดน้ำหนักได้เล็กน้อยอย่างรวดเร็ว ด้วยการกินแต่ซุปกะหล่ำปลีวันละหลาย ๆ มื้อ เป็นอาทิตย์ ๆ ตามวิธีการของ Cabbage Soup Diet แต่คุณจะได้รับแคลอรีน้อยเกินไป ซึ่งอาจทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานของคุณต่ำลง และซุปก็ไม่มีคุณค่าอาหารเพียงพอด้วย แต่การรับประทานซุปผักก็ยังถือเป็นไอเดียที่ดี เนื่องจากมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า การกินซุปก่อนมื้ออาหาร จะทำให้การบริโภคแคลอรีในระหว่างมื้ออาหารลดลง กว่าคนที่ไม่กินซุปก่อนอาหารได้

หาเวลางีบกลางวัน เพื่อสุขภาพที่ดี

นอนกลางวัน


ปัญหาการนอนหลับ (ตอนที่ 4) ทำไมต้องหาโอกาสนอน (งีบ) หรือนอนพักกลางวัน (หมอชาวบ้าน)
โดย แพทย์แผนจีน นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล


          เป็นเรื่องยากลำบากของคนที่ทำงานออฟฟิศ ที่จะแนะนำให้หาเวลาไปนอนงีบช่วงกลางวัน แล้วค่อยตื่นขึ้นมาทำงาน ในต่างประเทศบางประเทศ ให้ความสำคัญกับการพักงีบช่วงกลางวันเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะนิสัยเกียจคร้านของพวกเขา เบื้องหลังการพักงีบหรือหลับกลางวัน คือภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่ลึกล้ำที่ควรแก่การวิเคราะห์


การนอนหลับเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอย่างมาก


          เคยมีคนทดลองให้คน 3 คน เข้าสู่การทดลอง


          คนที่ 1 ไม่ได้ดื่มอะไร
          คนที่ 2 ไม่ให้กินอะไร
          คนที่ 3 ไม่ให้นอนหลับ


          แล้วดูผลว่าใครจะทนไม่ไหวก่อนกัน


          ปรากฏว่า คนที่บังคับไม่ให้นอนหลับจะอาการหนักที่สุด แสดงว่าการนอนหลับ มีผลต่อร่างกายจิตใจและชีวิตอย่างมาก เมื่อเทียบกับการขาดอาหาร และน้ำดื่ม


แพทย์แผนจีน เน้นช่วงเวลาการนอนหลับอย่างไร


          1.นอนช่วงที่หยินเข้าสู่ภาวะสูงสุดก่อนเกิดหยาง (23.00-01.00 น.) เป็นช่วงแปรเปลี่ยนของพลังหยินเป็นพลังหยาง เรียกว่า เป็นการหลับในช่วงกลางคืน หลับในช่วงจื่อสื่อ


          2.นอนช่วงสั้น ๆ ในช่วงที่พลังหยางสูงสุดก่อนการเกิดพลังหยิน (11.00-13.00 น.) เป็นช่วงแปรเปลี่ยนพลังหยางเป็นพลังหยิน เรียกว่าหลับในช่วงหวู่สื่อ เป็นการหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวันหรือเที่ยง


          3.การหลับให้สนิทในช่วงพลังลมปราณเข้าอวัยวะตับ คือ 01.00-03.00 น. เพื่อรักษาและถนอมตับ และเก็บเลือดกลับสู่ร่างกายให้มากที่สุด เรียกว่าหลับในช่วงโฉว่สื่อ


          4.การหลับให้สนิทในช่วงพลังลมปราณเข้าอวัยวะปอด คือ 03.00-05.00 น. เพื่อช่วยให้ปอดสามารถส่งเลือด และพลังไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ เรียกว่า พลังในช่วงยิ่นสือ


การนอนหลับในช่วงกลางวันสำคัญอย่างไร


1.แพทย์แผนจีนกล่าวถึงการนอนหลับในช่วงแปรเปลี่ยนของพลังหยินหยาง คือ ช่วง 23.00-01.00 น. และช่วง 11.00-13.00 น. ว่า จื่อหวู่เจี้ยว


           ช่วงเวลาจื่น (23.00-01.00 น.) หลับยาว


           ช่วงเวลาหวู่ (11.00-13.00 น.) หลับสั้น ๆ


2.การหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวัน


           ช่วงลดภาวะหยางกำเริบ หรือไฟในร่างกายได้ โดยเฉพาะคนที่ปากเป็นแผลร้อนใน อารมณ์หงุดหงิด มีปัญหาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ควรหาเวลาพักนอนหลับงีบสั้น ๆ หรือสงบอารมณ์ผ่อนคลายในช่วงนี้


           โดยธรรมชาติช่วงเวลา 11.00-13.00 น. เป็นช่วงที่พลังหยางสูงสุดในรอบวัน และยิ่งถ้าเป็นฤดูร้อน ช่วงที่อากาศร้อนจัด ความร้อนจะลอยสูงสู่เบื้องบน ทำให้เป็นช่วงที่ทำลายหยินของร่างกายได้มากที่สุด หลักการสำคัญของการพักจิตใจ หรือการนอนหลับ คือการนอนเสริมหยิน เพื่อลดความร้อนแรงของหยางนั่นเอง


           ถ้ายังทำงานไม่หยุด หรือใช้พลังหยางอย่างต่อเนื่องจะทำให้พลังหยางมากยิ่งขึ้น จะทำลายหยิน และเลือดอย่างมาก


           การนอนหลับสั้น ๆ ประมาณ 15 นาที 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ตามสภาพเงื่อนไขของแต่ละบุคคล และสภาพการงาน ถ้าไม่มีโอกาสนอนงีบก็ขอให้นั่งเอนงีบหรือปิดตาปล่อยวางจิต ลดการใช้เลือดและพลังหยางของร่างกาย ก็ยังได้ผลดีกว่าไม่พักสงบจิตเลย


3.การนอนหลับในช่วงเที่ยง


          ลดภาระการทำงานหนักของหัวใจ ลดอัตราการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันได้ร้อยละ 30 และเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพในช่วงตอนบ่าย


นอนหลับ




4.ช่วงเที่ยงวัน ยังต้องพิจารณา เรื่องอาหารมื้อเที่ยงควบคู่กันไปด้วย


           ควรพักงีบก่อนกินอาหารเที่ยง หรือควรกินอาหารเที่ยงก่อนพักงีบ


           ปกติมักจะพักเที่ยงกันตอน 12.00 น. ตามหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีนแล้ว ควรพักจิต หรืองีบหลับก่อนกินอาหาร เพราะเมื่อกินอาหารอิ่มแล้วไปนอนหลับ จะทำให้อาหารมีการย่อยดูดซึมไม่เต็มที่ (ไม่ว่าจะเป็นการกินอิ่มก่อนนอนในช่วงกลางวันหรือกลางคืน) เพราะขณะนอนพักร่างกายจะพักทำงาน ระบบย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง จึงควรหาเวลาสั้น ๆ พักก่อนไปกินอาหาร หลังกินอาหารเที่ยงควรเดินพักผ่อน เคลื่อนไหวอิริยาบถเบา ๆ จึงจะเหมาะสมกว่า


           การกินอาหารเที่ยงไม่ควรเกิน 12.30 น. เพราะช่วง 13.00 น. เป็นช่วงส่งผ่านพลังลมปราณ มายังลำไส้เล็ก ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารของดีขับแยกอาหารและของเสียออกจากกัน เพื่อขับทิ้งสู่ลำไส้ใหญ่ การทำงานของลำไส้เล็กที่ดีจะมีผลต่อการที่ร่างกายได้สารอาหารหล่อเลี้ยงที่สมบูรณ์


           ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ร่างกายค่อนข้างทำงานหนัก ด้านหนึ่งพลังหยินกำลังเกิด พลังหยางกำลังลดลง ร่างกายใช้พลังหยางมาตลอดช่วงเช้า บางคนต้องใช้กาแฟ น้ำชา ของเผ็ดร้อน มากระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน


           ขอแนะนำ ลองปรับเปลี่ยนเป็นวิถีธรรมชาติ ด้วยการหาเวลาหลับงีบสั้น ๆ หรือพักจิต หรือปิดตาผ่อนคลายในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเวลา 12.00-13.00 น. ก่อนไปกินอาหาร จะทำให้อาการอ่อนล้าในช่วงบ่ายดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องกระตุ้นด้วยกาแฟ เพราะเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติ


5.การนอนช่วงกลางวัน ไม่ควรยาวเกินหรือนานเกินไป


          เพราะจะไปรบกวนธรรมชาติของร่างกาย ทำให้วงจรนาฬิกาชีวิตแปรปรวนได้ เช่น เวลาที่ควรจะง่วงและนอนกลางคืนกลับไม่ง่วง ทำให้นอนดึก ตื่นสาย กินอาหารไม่ตรงตามเวลาที่เหมาะสม


          ช่วงหน้าร้อน กลางวันยาว กลางคืนสั้น การนอนช่วงกลางวัน ควรยาวกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อเก็บสะสมหยินให้มากพอ


          ช่วงหน้าหนาว กลางวันสั้น กลางคืนยาว การนอนหลับ ช่วงกลางวันไม่ควรจะยาว เพราะต้องเก็บพลังหยางให้พอ


6.อาหารมื้อเที่ยง ไม่ควรอิ่มเกินไป


          เพราะร่างกายต้องใช้พลังมาบำรุงเลี้ยงในการย่อยมาก


7.ถ้าไม่มีโอกาสหลับ หรืองีบ


          ให้ปิดตาพักจิตใจในเวลาสั้น ๆ (การปิดตาคือการเสริมหยินและเสิน จิตประสาท สมอง) ลดการกระตุ้นจากภายนอก ทำให้จิตสงบ


สรุป


          การยึดกุมโอกาส คือความสำเร็จ


          วิธีธรรมชาติ ถ้าเรารู้จักกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นอย่างดี เราสามารถหยิบโอกาสต่าง ๆ มาได้อย่างง่ายดาย ในทางตรงข้าม เวลาและโอกาสที่ผ่านไปสำหรับคนจำนวนมาก มองไม่เห็น เข้าไม่ถึง ได้แต่หยิบฉวยความว่างเปล่า ให้โอกาสและกาลเวลาผ่านไปอย่างน่าเสียดาย


          เคล็ดลับการนอนหลับโดยเฉพาะช่วงกลางคืน และการพักงีบสั้น ๆ ช่วงกลางวันเป็นภูมิปัญญาที่ลึกล้ำ ที่เหมาะกับการนำมาดูแลสุขภาพได้โดยไม่ต้องหายจากภายนอกแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า "บำรุงด้วยยา ไม่ดีเท่าการบำรุงด้วยอาหาร การบำรุงด้วยอาหาร ไม่ดีเท่าการบำรุงด้วยการนอนหลับ"
          กล่าวให้ถึงที่สุด การนอนหลับเป็นยาบำรุงชั้นดีของตับและไต